วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบำบัดโดยใช้แนวคิดเรื่องสติ ( Mindfulness base treatment)

งานสุขภาพจิตของทางตะวันตกได้นำเอาหลักการสติ( Mindfulness ) ไปปรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต หรือในการพัฒนาสุขภาพจิต โดยนำเอาเฉพาะหลักการแนวคิดของสติไปใช้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา และพบว่าสามารถที่จะทำให้บุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือสามารถบรรเทาหรือพ้นจากปัญหาทางสุขภาพจิตได้ (ทุกข์ - ) โดยแนวทางเรื่องสติได้ถูกนำไปใช้หลังจากแนวทางสมาธิ( concentration-based meditation ) ได้ถูกนำไปใช้ในโลกตะวันตกนาน โดยข้อสำคัญที่แยกสมาธิออกจากสติคือการที่สมาธิจะให้ความสนใจไปยังสิ่งๆเดียว เช่น การหายใจ หรือคำพูดบางคำ เช่น matra ใน Transcendental Meditation ส่วนแนวทางสตินั้นจะต้องคอยติดตามรูปและนามที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งก็เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธที่ สมาธินั้นเกิดขึ้นก่อนพุทธกาล สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบใหม่คือสติ

บุคลากรทางสุขภาพจิตทางตะวันตกมองว่าการมีสติคือการตั้งใจที่จะให้เกิดความสนใจกับประสบการณ์ที่เกิดในปัจจุบัน โดยไม่ไปตัดสินหรือยอมรับ (intentionally focusing one’s attention on the experience occurring at the present moment in a nonjudgmental or accepting way Kabat-Zinn , 1990 อ้างใน Mindfulness-Based Treatment Approaches) ซึ่งในทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของสติไว้หลายอย่าง เช่น ความระลึกรู้ นึกได้ ความไม่เผลอ การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง จำการที่ทำหรือคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก) หรือ ความระลึกได้ถึงความปรากฏของรูปนาม สติเป็นอนัตตาเช่นเดียวกับธรรมทั้งปวง ดังนั้นไม่มีใครที่จะสั่งหรือจงใจให้เกิดสติเกิดขึ้นได้ เว้นเสียแต่จะมีเหตุที่สมควร สติจึงจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามให้เกิด เหตุให้เกิดสติได้แก่การที่จิตรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ เพราะได้เจริญสติปัฎฐานหรือตามสภาวะของ กาย เวทนา จิต หรือธรรมเนืองๆ (ทางเอก พระประโมทย์ ปาโมชโช ) โดยจะเห็นว่ามีมุมมองที่เหมือนกัน เช่น การอยู่ในปัจจุบัน การเป็นผู้สังเกตการณ์ไม่ใช้ผู้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่ก็มีมุมมองที่ต่างกัน เช่นในประเด็นความตั้งใจทำให้เกิด

ในทางตะวันตกได้นำหลักการของสติไปประยุกต์ใช้ โดยมีแนวทางการช่วยเหลือที่ได้รับการยอมรับค่อนข้างมากอยู่ ๔ แนวทางคือ
๑. Mindfuness-base stress reduction ( MBSR )
๒. Mindfuness-base cognitive therapy ( MBCT)
๓. dialectical behavior therapy( DBT )
๔. acceptance and commitment therapy ( ACT )

โดยความต่างกันของทั้ง ๔ วิธีจะเห็นวิธีการที่สอนให้เกิดความตระหนักรู้ในสติ (mindful awareness) บางวิธีจะต้องมีการนั่งเพื่อให้สติอย่างเป็นแบบแผน บางวิธีจะเน้นการมีสติในชีวิตประจำวัน เช่นขณะรับประทานอาหาร หรือ ล้างจาน บางวิธีจะฝึกทั้งสองอย่าง แต่ทุกวิธีจะใช้แนวสติ โดยให้สังเกตการณ์เกิดของความคิด ความจำ อารมณ์ที่เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นก็ให้เกิดความตระหนักรู้ว่าได้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น (การเกิดของรูปนาม - ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน) โดยผู้ฝึกจะอยู่ในบทบาทของผู้สังเกตการณ์ไม่ใช่ผู้ลงไปยุ่งเกี่ยว นอกจากนี้ยังสังเกตการณ์เมื่อยล้าของร่างกายที่เกิดขึ้น (เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน) และให้ใช้คำพูดบ่งถึงที่รู้สั้นๆเช่น ปวด เมื่อย หรือเรื่องอารมณ์ เช่น เสียใจ ในบางแนวทางก็จะให้สังเกตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเช่น เสียง กลิ่น โดยการสังเกตทั้งหมดจะไม่ทำการตัดสิน ตำหนิตนเอง ตีความ ปล่อยให้เกิดขึ้นเองโดยการรู้ เช่นจะไม่พยายามประเมินความคิดว่ามีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล ไม่พยายามไปเปลี่ยนความคิดหรือความรู้สึก ไม่พยายามไปลดความรู้สึกที่ไม่ดี โดยผู้ฝึกจะเป็นเพียงผู้สังเกต ความคิด ( cognition ) ความจำ ( memory ) ความรู้สึก ( sensation ) และอารมณ์ (emotion) (Mindfulness-Based Treatment Approaches)
Note :- แนวทางดังกล่าวข้างต้นซึ่งเรียกว่า Mindfulness-Based นั้นจะเรียกว่า third wave CBT

3 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะ หนูสนใจศึกษาเรื่องmindfulness แต่ยังอ่อนความรู้อยู่มาก อยากจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม จะศึกษาได้จากที่ไหนคะ

    ตอบลบ
  2. ลืมให้contactคะ หนูชื่อมุกค่ะ เมตตาให้คำตอบได้ทางนี้หรือทางemail ด้วยก็ได้คะ mookintawan@gmail.com

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณครับทำให้เข้าใจการบำบัดโดบใช้สติเป็นฐานมากขึ้นครับ ขอบคุณข้อมูลดีๆที่นำมาแบ่งปันเพื่อพัฒนาใจผู้ที่ได้ศึกษา

    ตอบลบ